หน้าหลัก

สื่อการเรียนรู้

หลักการด้านการศึกษาสมัยใหม่ กับคำถามที่ว่า " คุณภาพคนแห่งโลกอนาคตควรเป็นอย่างไร ? "

28 สิงหาคม 2023 713 ครั้งอ่านบทความนี้ 1 ปีก่อน 3


“ช่องว่างทางความรู้” ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของสังคมโลก ส่งผลให้การวิจัยศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเด็กมีความซับซ้อนมากขึ้น เมื่อการศึกษาวันนี้ คือการสร้างคนให้กับอนาคต ต้องทำความเข้าใจ และทำนายให้ใกล้เคียงที่สุดว่าจะปฏิรูปการศึกษาออกไปแบบไหน อนาคตต้องผลิตบุคลากรแบบใด เพื่อตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลง และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไปด้วย

VASK หลักการด้านการศึกษาสมัยใหม่

♦ V มาจาก Values คือ ค่านิยม เป็นการสร้างแนวคิดให้เด็กอยากประสบความสำเร็จในชีวิต

♦ A มาจาก Attitude คือ เจตคติ หรือทัศนคติ เป็นการสร้างวิธีคิด เจตคติเชิงบวก และเชิงลบ

 S มาจาก Skills คือ ทักษะ เป็นการฝึกฝนให้เกิดเทคนิควิธีการ ที่จะนำไปต่อยอดอาชีพ และดำรงชีวิตต่อไปในอนาคตได้

♦ K มาจาก Knowledge คือ ความรู้ ที่ได้รับมาจากการเรียน และประสบการณ์

เป็นโมเดลการศึกษาจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช (ประธานที่ปรึกษา หน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ สาขาการศึกษา และการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

ได้ยกตัวอย่างการศึกษาไทยในปัจจุบันไว้ว่า กรอบการศึกษาเน้นไปที่ K (Knowledge) และ S (Skills) มากกว่า หากต้องการปรับตัวให้ก้าวทันโลกมากขึ้น ควรเพิ่ม V (Values) และ A (Attitude) เข้ามาเสริม เพราะการศึกษาสมัยใหม่ คือ การเรียนรู้ ที่เกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ได้เน้นเพียงรูปแบบวิชาการที่ตายตัว แต่ต้องสามารถบูรณาการการเรียนรู้ และต่อยอดการศึกษาไปใช้ในอนาคตได้

แล้วเด็กจะหา VASK 4 ด้านนี้ได้จากไหนบ้าง?

ความรู้ (Knowledge)

พื้นฐานตั้งต้นในการไปเรียนของเด็ก คือการได้รับความรู้ แต่การศึกษาสมัยใหม่ ไม่ใช่แค่การรับความรู้จากผู้สอนเท่านั้น แต่เด็กต้องสามารถนำเอาความรู้ไปใช้ได้จริง และสามารถต่อยอดได้

สิ่งที่ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ คือการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นกระบวนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม และมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำหลากหลายรูปแบบ เช่น การวิเคราะห์ สังเคราะห์ ระดมสมอง ตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนความคิด หรือทำกรณีศึกษา เป็นต้น ผู้สอนลดบทบาทในการถ่ายทอดความรู้ในลักษณะการบรรยาย แต่เปลี่ยนเป็นผู้นำการเรียนรู้ (Facilitator) ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนพัฒนาศักยภาพการคิดแก้ปัญหา และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้เรียน เพื่อให้เขานำความรู้ไปประยุกต์ใช้ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ เกิดประสบการณ์ และได้รับวินัยจากการทำงานร่วมกัน

ทักษะ (Skills)

จากการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Harvard กล่าวว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนการทำงานของคนมากกว่า 20 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030 โดยเฉพาะตำแหน่งของคนทำงานที่มีทักษะต่ำ เช่นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรได้แทน และส่งผลต่อภูมิภาคที่มีแรงงานแบบนี้มาก เศรษฐกิจไม่แข็งแรง และอัตราว่างงานสูง จะยิ่งถูกเทคโนโลยีทดแทนได้ง่ายกว่าเดิม

แล้วแบบนี้ เด็กในอนาคต ควรจะต้องมีทักษะอะไร เพื่อความอยู่รอดในอนาคต?

จากข้อมูลของ Futurist หน่วยงานที่ให้คำปรึกษาการทำงานในองค์กรกว่า 1,000 แห่งทั่วโลก แนะนำถึงทักษะ “Soft Skills” ที่สำคัญ ทั้งหมด 4 ทักษะ ดังนี้

♦ ทักษะการคาดเดาอนาคต

ไม่ได้เกี่ยวกับหมอดู หรือคำทำนายทายทัก แต่เป็นการวิเคราะห์ คาดเดาสถานการณ์ และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และส่งผลต่อเศรษฐกิจ และอาชีพต่าง ๆ การจะมีทักษะนี้ได้ ต้องหัดให้ผู้เรียนมีทักษะการสังเกตความเปลี่ยนแปลงรอบตัว คิดนอกกรอบ รู้จักวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูล

♦ ทักษะความเป็นผู้นำ

ความเป็นผู้นำไม่ใช่การนำลูกทีมได้ แต่เป็นเรื่องที่ครูต้องสอนให้เด็กสามารถเป็นผู้นำของตนเอง ก้าวข้าม Comfort Zone พร้อมที่จะออกไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ซื่อสัตย์ พร้อมที่จะบอกคนอื่นถึงเรื่องที่ต้องรับฟัง ไม่ใช่แค่บอกเพียงสิ่งที่คนอื่นอยากฟัง กล้าลงมือทำ และตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง

♦ ความฉลาดทางอารมณ์

ทักษะความฉลาดทางอารมณ์นี้ยังไม่มีหุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์ไหนที่ทำแทนได้ ทักษะนี้จำเป็นต้องส่งเสริมให้เด็กสามารถประเมินและควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ของคนอื่น และของกลุ่มคนได้ จากหนังสือเรื่อง Emotional Intelligence โดย Daniel Goleman นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Harvard ได้อ้างอิงว่าความฉลาดสัมพันธ์กับความสำเร็จ สุขภาพ และความสุขในชีวิต และจากข้อมูลWorld Economic Forum เรื่อง The Future of Jobs พิจารณากลยุทธ์การจ้างงาน ทักษะ และกำลังคนสำหรับอนาคต สรุปไว้ว่าความฉลาดทางอารมณ์เป็นหนึ่งในทักษะที่นายจ้างต้องการมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ

♦ ทักษะการสื่อสาร

การสื่อสารในปัจจุบันไม่ใช่แค่การเจอหน้าและพูดกัน แต่มีการนำระบบดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง เด็กจะต้องมีทักษะการสื่อสารที่ชัดเจน เข้าใจทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับสาร เพราะการสื่อสารที่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องสำคัญที่นำไปสู่การแก้ปัญหา และรักษาความสัมพันธ์ได้

 

               นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ “Hard Skills” ที่จำเป็นในยุคนี้ อย่างทักษะความรู้ด้านดิจิทัล และการคิดเชิงคำนวณ จะเห็นได้ชัดเจนมากในยุค AI ครองเมืองว่าเครื่องมือต่าง ๆ และผู้คนที่ทำงานด้านการเขียนโปรแกรม ระบบฐานข้อมูล รวมถึงทักษะขั้นสูงที่ต้องใช้ความรู้ด้านดิจิทัลเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน

อย่างที่เรารู้กันดีว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ ในปัจจุบันมีการส่งเสริม STEM เข้ามาเป็นหนึ่งในหลักสูตรของโรงเรียนทั่วโลก เด็กยุคใหม่ที่มีทักษะความคิดสร้างสรรค์ และดิจิทัลก็สามารถต่อยอดไอเดีย และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาได้จะเป็นเด็กที่ได้เปรียบอย่างมากในยุคอนาคต และที่ขาดไม่ได้เลยไม่ว่าจะยุคไหน คือ ทักษะการปรับตัว และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่ก็สามารถอยู่รอดได้

ค่านิยม (Values)

ค่านิยมที่จะทำให้สำเร็จนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญกับการเรียนรู้เป็นอย่างมาก เราไม่สามารถสร้างค่านิยมให้เด็กได้จากการบอกเขาแค่ว่า “ตั้งใจเรียน จะได้โตไปทำงานดี ๆ ไม่ลำบาก เป็นเจ้าคนนายคน” เพราะว่าการเรียนตามสั่งไม่ใช่คำตอบของความสำเร็จเสมอไป หากเด็กขาดแรงจูงใจตรงส่วนนั้นไป ก็ขาดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และตามหาตัวเองไม่เจอในที่สุด จากหลักคิด Passion to win ได้พูดถึงการสร้าง Value อยู่ 4 ข้อ ที่คุณครูสามารถนำมาปรับใช้ในการชี้แนะเด็กได้ ดังนี้ครับ

▪ Inspiring คือ การสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก โดยเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จากสิ่งที่เขาสนใจ

▪ Passionate คือ การต่อยอดแรงบันดาลใจ ให้กลายเป็นแรงผลักดัน “จากภายใน” หากผู้ปกครองหรือครูวางเรื่องให้เด็ก และกำหนดเป้าหมายว่าถ้าทำได้ดีจะได้รับรางวัล "รางวัล" นี้คือแรงบันดาลใจภายนอก เมื่อเขาได้สิ่งที่ต้องการแรงผลักก็จะหมดไป แต่การสร้างความหลงใหลคือแรงขับเคลื่อนจากภายในให้เกิดความทะเยอทะยาน กระหาย และอยากเรียนรู้ อยากลงมือทำในสิ่งนั้น และต่อยอดไปไม่รู้จบ

▪ Inquisitive คือ การใฝ่รู้ใฝ่เรียน ไม่ย่อท้อต่อสิ่งที่เจอ ทุกปัญหาคือประสบการณ์ในการเรียนรู้ ตรงส่วนนี้เด็กจะมีทักษะนี้ได้ต้องประกอบไปกับอิสระในการค้นหาสิ่งที่ตนเองสนใจ และทัศนคติที่ดี

▪ Goal-Oriented คือ การแน่วแน่ที่เป้าหมาย หากเด็กมีเป้าหมายในความสำเร็จที่ชัดเจน จะเห็นภาพของตัวเองชัดเจนขึ้น คุณครูจึงควรเริ่มจากการสร้างนิสัยในการสร้างเป้าหมายให้กับเด็ก ๆ

ทัศนคติ (Attitude)

ทัศนคติ คือสิ่งที่มีทั้งด้านดี และไม่ดี สิ่งที่หล่อหลอมให้เกิดเชิงลบ และเชิงบวก คือ สภาพแวดล้อม และการเรียนรู้ในวัยเด็กเป็นหลักสำคัญ แต่ทัศนคติเป็นสิ่งที่พัฒนา และสอนกันได้ จากทฤษฎีเงื่อนไขการเรียนรู้ของกาเย่ (Gagné’s Conditions of Learning) เขาได้อ้างอิงแนวคิดของ บลูม (Taxonomy of Educational objectives) เพื่อนำมาแบ่งสมรรถภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ แล้วอนุมานออกมาได้ว่า มนุษยสะสมข้อมูลไว้พิจารณาเลือกที่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (โดยใช้ทัศนคติของตนมาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจ) และในขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมก็มีอิทธิพลต่อการส่งเสริม และยับยั้งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในได้

การที่คุณครูสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับเด็ก จะทำให้เด็กมองโลกในแง่ดี ไม่ยอมแพ้อะไรง่าย   ๆ และสามารถเอาตัวรอดในอนาคตได้อย่างมีความสุข เพราะการเรียนรู้ และการใช้ชีวิตจำเป็นต้อนมีทัศนคติที่เป็นตัวชี้นำไปสู่ความสำเร็จ

การศึกษาแบบเดิม ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่มันถูกสร้างมาให้สอดคล้องกับยุคสมัยนั้น ๆ พอมาถึงสมัยใหม่ เราจำเป็นต้องรื้อ เสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อนำมุมมองที่สอดคล้องกับโลกอนาคตเข้ามาปรับการศึกษา และสร้างระบบการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์เด็กมากที่สุด แล้วคุณคิดว่ามีอะไรอีกบ้างที่จะช่วยสร้างคนคุณภาพในอนาคตของชาติได้ 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ