เราอาจต้องขอเตือนคุณสักนิดว่าบทความศิลปะที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้ กำลังจะพูดถึงและมีภาพสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์นัก อาจไม่ใช่ศิลปะที่คุณคุ้นเคยหรือคิดว่ามันน่าจะเป็น
เรากำลังพูดถึง Abject Art ศิลปะที่ใช้สิ่งน่ารังเกียจเป็นวัสดุ (material) หรือหากไม่ได้ใช้สิ่งนั้นเป็นวัสดุในผลงาน วัสดุและ/หรือรูปทรงที่ใช้ก็ชวนนึกถึงสิ่งที่น่ารังเกียจเหล่านั้น หากพูดถึงสิ่งที่น่ารังเกียจ ที่รวมถึงความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าเกลียด ไม่น่าอภิรมย์ ไม่อยากเข้าใกล้ไปจนถึงน่าขยะแขยงและชวนให้คลื่นไส้ กลุ่มที่เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด คือของเหลวในร่างกาย (body fluids) สารคัดหลั่ง (secretion) และสิ่งขับถ่าย (excretion)
แต่ไม่ใช่เพียงแค่นั้น Abject Art ยังหมายรวมถึงสิ่งที่ลึกซึ้งขึ้นอย่างสิ่งทำให้หวนนึกถึงครรภ์ของมารดาที่เราเคยอาศัยอยู่ สิ่งที่ไม่เป็นรูปทรงชัดเจน (formless) ดูคลุมเครือ ร่างกายที่ถูกแยกออกเป็นส่วนๆ เห็นอวัยวะข้างใน โดยสรุปแล้ว สิ่งที่มักทำให้เรารู้สึกรังเกียจคือสิ่งที่อยู่ข้างในแต่กลายเป็นอยู่ข้างนอก สิ่งที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเราแต่แล้วก็แยกออกจากเรา สิ่งที่พอหลุดออกไปจากตัวเราก็กลายเป็นสิ่งน่ารังเกียจที่ต้องกำจัดทิ้งไปให้ไกลตา
แนวคิดสำคัญที่ใช้อธิบายและเป็นแรงบันดาลใจให้กับงานศิลปะลักษณะนี้ได้อย่างชัดเจนจนกลายเป็นชื่อเรียกงานศิลปะประเภทนี้ คือ Abjection ที่ จูเลีย คริสเตวา (Julia Kristeva) เสนอใน The Powers Of Horror: An Essay On Abjection ที่ตีพิมพ์ออกมาในปี 1982 โดย ผศ. ดร.ชุติมา ประกาศวุฒิสาร อาจารย์ประจำสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายในวารสารสังคมศาสตร์ไว้ว่า
“คริสเตวากล่าวถึง Abject ว่าเป็นสิ่งที่เราขจัดออกไปเพื่อให้ดำรงอยู่ได้ในสังคม เนื่องจากสิ่งที่เราขจัดออกไปนั้นจําเป็นต่อการนิยามตัวตนของเราเช่นกัน Abject จึงเป็นสิ่งที่เราปรารถนาและปฏิเสธขณะเดียวกัน เรามีความรู้สึกย้อนแย้งต่อ Abject เพราะเป็นสิ่งก้ำกึ่งไม่อาจแยกแยะจัดแบ่งประเภทได้ คริสเตวาชี้ว่ากฏข้อห้ามและพิธีกรรมในสังคม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันสมาชิกไม่ให้กลับไปหลอมรวมกับ Abject อันนํามาซึ่งการสูญสลายของตัวตน ความหวาดกลัวของสังคมต่อ Abject จึงนํามาซึ่งการตรึงพรมแดนที่แบ่งกั้นระหว่างเรากับความเป็นอื่นที่ขจัดออกไป”
Abject Art คือศิลปะที่พยายามท้าทายการตรึงพรมแดนนั้น ด้วยการนำเอาสิ่งที่น่ารังเกียจซึ่งจะต้องถูกกำจัดมาเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง ลักษณะที่ท้าทายความสะอาด ระบบระเบียบและกฎเกณฑ์ของสังคมซึ่งกำหนดโดยผู้ชาย (Patriarchal social order) ทำให้ Abject Art มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับศิลปินเฟมินิสต์เช่นซินดี้ เชอร์มาน (Cindy Sherman) คาเรน ฟินเลย์ (Karen Finley) กิกิ สมิตธ์ (Kiki Smith) จูดี้ ชิคาโก (Judy Chicago) และศิลปินโฮโมเซ็กชวลเช่นโรเบิร์ต โกเบอร์ (Robert Gober) ในยุค 80s แต่ก็ใช่ว่าไม่มีศิลปินชายทำงานประเภทนี้เสียทีเดียว และก่อนหน้าที่คริสเตวาจะเขียนบทความของเธอขึ้นจนเกิดเป็นคำนิยาม ก็มีศิลปินที่ลองหยิบวัสดุแบบนี้มาทำงานอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงศิลปินในยุค 2000s และศิลปินร่วมสมัยในปัจจุบันก็ยังสนใจวัสดุเหล่านี้ในแง่มุมที่ต่างไปจากยุคก่อน
ไม่ว่า Abject Art นั้นจะถูกสร้างสรรค์โดยเพศสภาพใดและในช่วงเวลาใดก็ตาม ก็ล้วนออกมาเป็นงานศิลปะที่ชวนอึ้งแถมยังทำให้กระอักกระอ่วนด้วยไม่รู้ว่าจะจัดการความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างไร เราขอชวนคุณมาสำรวจตัวอย่าง Abject Art ในหมวดต่างๆ แบ่งตามวัสดุหรือลักษณะแสนน่ารังเกียจที่ถูกนำมาใช้แบบไม่เซ็นเซอร์ไปด้วยกัน
ศิลปิน: คาเรน ฟินเลย์ (Karen Finley)
ชื่อผลงาน: We Keep Our Victims Ready
ปี: ค.ศ. 1989
ศิลปินใช้ช็อกโกแลตแทนอุจจาระเพื่อสื่อว่าร่างกายของผู้หญิงถูกปฏิบัติอย่างไร้ค่า (women are treated like shit.) ซึ่งถึงแม้จะเป็นช็อกโกแลตแต่ภาพที่ได้ก็ชวนช็อกและความรู้สึกที่ได้นั้นก็ไม่ชวนให้เกิดความรู้สึกหอมหวานเอาเสียเลย
ศิลปิน: โนริโทชิ ฮิรากาวะ (Noritoshi Hirakawa)
ชื่อผลงาน: Home-Coming of Navel Strings
ปี: ค.ศ. 2004
ด้วยการให้นักแสดงนั่งอ่านหนังสือโดยมีก้อนอึอยู่ข้างๆ และที่ด้านหลังมีภาพซูมของรูทวารย้อมด้วยสีม่วงปนชมพู หากก้อนอึนั้นแห้งลง ก็จะถูกเปลี่ยนเป็นก้อนใหม่มาแทน ศิลปินตั้งใจจำลองภาพกิจกรรมที่เราอ่านหนังสือระหว่างขับถ่ายผ่านศิลปะแสดงสดสุดเรียบง่ายและประหลาดชิ้นนี้
หมวดปัสสาวะ
ศิลปิน: แอนดี้ วอร์ฮอล์ (Andy Warhol)
ชื่อผลงาน: Oxidation Painting (diptych)
ปี: ค.ศ. 1978
ศิลปินป๊อปอาร์ตสุดเปรี้ยวขวัญใจใครหลายคนก็เคยลองให้ผู้ช่วยและเพื่อนฝูงฉี่รดผ้าใบที่ทาด้วยผงทองแดงเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) เป็นรอยต่างๆ ผลออกมาคล้ายกับงานศิลปะประเภท Abstract Expressionism
ศิลปิน: แอนเดรส เซอราโน (Andres Serrano)
ชื่อผลงาน: Piss Christ
ปี: ค.ศ. 1987
ศิลปินอธิบายว่าเขาฉี่ใส่แก้วที่มีรูปจำลองพระเยซูถูกตรึงกางเขนขนาดเล็กวางอยู่ แล้วถ่ายรูปขณะรูปจำลองจมอยู่ในฉี่ แน่นอนว่าทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมและการจงใจท้าทายศาสนจักรอย่างแรงในครั้งนี้
ศิลปิน: นัท แอสแดม (Knut Asdam)
ชื่อผลงาน: Untitled: Pissing
ปี: ค.ศ. 1995
ศิลปินบันทึกภาพตัวเองฉี่ราดรดกางเกงเพราะต้องการตั้งคำถามว่าทำไมคนที่ฉี่ราด ถึงโดนตราหน้าว่าควบคุมตัวเองไม่ได้และต้องอับอาย ทั้งที่หลายครั้งก็เป็นเหตุสุดวิสัยและเกินการควบคุมของร่างกายจริงๆ
หมวดอาเจียน
ศิลปิน: ซินดี้ เชอร์มาน (Cindy Sherman)
ชื่อผลงาน: Untitled (#175)
ปี: ค.ศ. 1987
ศิลปิน ซินดี้ เชอร์แมนโด่งดังในการใช้ตัวเธอเองเป็นแบบในการถ่ายภาพ เธอแต่งหน้าและแต่งตัวเป็นผู้หญิงในสไตล์ต่างๆ แต่ในผลงานนี้ เธอนำเสนอ abject อย่างชัดเจน ภาพนี้ประกอบด้วยขยะ เศษอาหารและกองอาเจียน เธอเปลี่ยนจากการนำเสนอ ‘ข้างนอก’ เป็นการนำเสนอสิ่งที่อยู่ ‘ข้างใน’ ตัวผู้หญิงที่โดนผลักออกมา ‘ข้างนอก’
ศิลปิน: มิลลี่ บราวน์ (Millie Brown)
ชื่อผลงาน: Nexus Vomitus
ปี: ค.ศ. 2011
หากเห็นเพียงผลลัพธ์ คุณคงไม่คิดว่าภาพสีน้ำสีสันสดใสชิ้นนี้มีอะไรพิเศษนัก แต่ถ้ารู้ที่มา คุณอาจรู้สึกต่างออกไป มิลลี่ บราวน์สร้างงานศิลป์ด้วยการกลืนเครื่องดื่มสีแล้วล้วงคอให้อ้วกออกมา เธอใช้หลอดอาหารของตัวเองต่างหลอดสีด้วยเหตุผลที่เธอบอกกับ theguardian ว่า “ฉันอยากใช้ร่างกายตัวเองสร้างศิลปะ อยากให้มันมาจากข้างในจริงๆ ฉันอยากสร้างสิ่งที่ดิบเถื่อนและควบคุมไม่ได้” อย่างไรก็ตาม เธอปฏิเสธว่าเธอไม่ได้เป็นโรคล้วงคอให้อ้วกเพราะกลัวอ้วนหรือ Bulimia ตามที่มีคนแอบคิด วิธีนี้เป็นเพียงการสร้างงานศิลปะในแบบของเธอเท่านั้น
หมวดเลือด
ศิลปิน: มาร์ก ควินน์Mark Quinn
ชื่อผลงาน: Self
เป็นโครงการต่อเนื่อง ทำทุกๆ ห้าปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1991 ถึงปัจจุบัน
ทุกห้าปี ศิลปินจะเก็บเลือดตัวเอง 4.5 ลิตรเพื่อนำมาหล่อประติมากรรมรูปเหมือนของศีรษะของเขาเอง เป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะที่บันทึกภาพของตัวเองด้วยเลือดเนื้อและแรงกายของตัวเองอย่างแท้จริง
ศิลปิน: จูดี้ ชิคาโก (Judy Chicago)
ชื่อผลงาน: Menstruation Bathroom
ปี: ค.ศ. 1972
ศิลปินถ่ายภาพห้องน้ำของตัวเองในช่วงมีประจำเดือน ในถังขยะเต็มไปด้วยผ้าอนามัยเปื้อนเลือด แสดงให้เห็นถึงชีวิตของผู้หญิงที่โดยปกติสังคมไม่ได้รับรู้แง่มุมนี้ของพวกเธอ หรือยิ่งกว่านั้นกลับต้องถูกปิดบังซ่อนเร้นราวกับมันไม่ได้มีอยู่จริงบนโลกใบนี้
หมวดอสุจิ
เราเคยพบความเก๋ของศิลปินไทย เช่นโอ๊ต มณเฑียร ที่นำอสุจิผสมลงไปในสีแล้วนำมาเพนท์ภาพ แต่ที่เราจะหยิบยกมานี้ เป็นอสุจิแบบที่ไม่ได้ผสมกับอะไรเลย
ศิลปิน: วีโต้ แอ็กคอนซี (Vito Acconci)
ชื่อผลงาน: Seedbed
ปี: ค.ศ. 1972
นอกจากเป็น body art แล้ว งานชิ้นนี้ก็เป็น Abject Art ด้วยเช่นกัน โดยศิลปินลงไปนอนอยู่ใต้พื้นระนาบเอียงของ Sonnabend Gallery ที่นิวยอร์ก เมื่อมีคนเดินเข้ามาในแกลลอรี่ เขาจะไปตรงจุดที่คนยืนอยู่แล้วเริ่มช่วยตัวเองโดยบอกเล่าจินตนาการที่กำลังคิดอยู่ออกมาดังๆ ผ่านลำโพง ในแง่หนึ่ง ผลงานนี้ทำให้ศิลปินกับผู้ชมเกิดความสัมพันธ์ต่อกันแม้ว่าจะมองไม่เห็นกันและกัน ผลที่ได้จากศิลปะแสดงสดนี้คืออสุจิของเขาที่เปรอะเปื้อนไปทั่วพื้นของแกลลอรี่
ศิลปิน: ดาช สโนว (Dash Snow)
ชื่อผลงาน: Fuck the Police
ปี: ค.ศ. 2005
ศิลปินตัดภาพข่าวความอยุติธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 45 ภาพและใช้อสุจิของตัวเองราดรดภาพเหล่านั้น เพื่อจะส่งข้อความในชื่อผลงานอย่างตรงไปตรงมา
หมวด อะไรไม่รู้ แต่ดูน่าเกลียดจัง
ตัวอย่างงานศิลปะในหมวดนี้อาจให้ความรู้สึกน่ารังเกียจน้อยกว่าหมวดต่างๆ ก่อนหน้า เนื่องจากไม่ได้มีการปรากฏของของเสียเหล่านั้นอย่างชัดเจน แต่ยังคงลักษณะที่ทำให้เรารู้สึกแปลกๆ อึดอัด หรือไม่สบายใจที่จะดู อย่างการเปิดอวัยวะภายในออกมาอยู่ภายนอก อวัยวะที่ถูกตัดมาเป็นส่วนๆ หรือลักษณะที่ดูไม่เป็นรูปทรงที่ชัดเจน ก็ทำให้รู้สึกว่าไม่น่าอภิรมย์ได้เช่นกัน
ศิลปิน: โมนา เฮทอม (Mona Hatoum)
ชื่อผลงาน: Corps étranger
ปี: ค.ศ. 1994
ศิลปินส่งกล้องเข้าไปข้างในตัวเธอเอง ผู้ชมจึงได้สำรวจอวัยวะภายในและของเหลวในร่างกายของเธอผ่านวิดีโอที่เธออัดผ่านกล้องนั้น ทั้งที่เราอยู่กับร่างกายของตนเองทุกเมื่อเชื่อวัน แต่น่าแปลกที่เราไม่เคยเห็นหรือกระทั่งตระหนักถึงข้างในของตัวเองเลย และเมื่อเห็นก็ให้ความรู้สึกไม่น่าพึงพอใจ เหมือนดังชื่อผลงานที่บอกว่าร่างกายของเรานั้นเป็นคนนอก เป็นคนแปลกหน้ากับเรา
ศิลปิน: โรเบิร์ต โกเบอร์ (Robert Gober)
ชื่อผลงาน: Untitled (Man Coming Out Of Woman)
ปี: ค.ศ. 1993-1994
ผลงานประติมากรรมที่ทำจากขี้ผึ้งนี้ชวนเรารู้สึกอึดอัด อาจเพราะเป็นรูปท่อนล่างของผู้หญิงตัดตอนมาและมีขาข้างหนึ่งออกมาจากช่องคลอดของเธอ ซึ่งขาข้างนั้นก็ดันใส่รองเท้า ถุงเท้าและมีขนซึ่งทำมาจากขนคนจริงๆ โรเบิร์ต โกเบอร์ ทำประติมากรรมในลักษณะนี้หลายชิ้น เป็นส่วนของร่างกายท่อนล่างหรือเพียงแค่ขาที่โผล่ออกมาจากผนัง ถึงแม้เราจะรู้ว่ามันไม่ใช่ของจริงแต่มันก็เหมือนจริงและสร้างความรู้สึกประหลาดให้กับเรา
โกเบอร์ขายงานลักษณะนี้ได้หลายชิ้นในช่วงที่เขาสนับสนุนองก์กร AIDS Coalition to Unleash Power (ACT UP) ที่ต้องการค้นคว้าเพื่อหยุดการแพร่กระจายและหาวิธีรักษาโรคเอดส์ในยุคสมัยที่รัฐบาลทำเป็นเฉยเมยกับเรื่องนี้ เรียกได้ว่าท่อนขาที่โผล่มาแบบไม่มีที่มาที่ไปนั้น ได้ช่วยผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นคนชายขอบและไม่ได้รับการมองเห็นจากรัฐเอาไว้ด้วยความประหลาดเตะตาของมันเอง
ศิลปิน: ซาร่า ลูคัส (Sarah Lucas)
ชื่อผลงาน: NUD CYCLADIC 14
ปี: ค.ศ. 2010
อะไรก็ไม่รู้ที่ ดูเป็นก้อนๆ นิ่มๆ หยุ่นๆ นี้คือประติมากรรมของ Sarah Lucas ทำจากถุงน่องยัดนุ่นชวนให้นึกถึงเนื้อหนังของคน ดูเป็นลำไส้ก็ได้หรืออาจเป็นขาหรือแขนที่กอดเกี่ยวแต่ปราศจากลำตัว มือและเท้า ผลงานชุด NUD นั้นมีหลายชิ้น บ้างก็ตีความว่าเป็นลักษณะท่าร่วมเพศที่แนบแน่นเสียจนอวัยวะเพศกลืนเข้าหากัน บ้างก็บอกว่าเป็นการแสดงความจริงแท้ของร่างกายที่เป็นเพียงก้อนเนื้อ ศิลปินอธิบายถึงงานชุดนี้ไว้สั้นๆ ว่าแฟนของเธอเจอถุงน่องเก่าๆ เลยลองเอามายัดนุ่นแล้วจับบิดไปบิดมา จัดท่าทางดู จากนั้นเธอก็เกิดยูเรก้าขึ้นมา ซึ่งไม่ว่าจะตีความอย่างไร เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าศิลปินสร้างผลงานออกมาได้น่าเกลียดน่าชังเสียจริงๆ
สำหรับ Abject Art คำถามที่สำคัญคือ “สิ่งที่เราว่าน่ารังเกียจเหล่านี้กลายมาเป็นศิลปะได้อย่างไร” ซึ่งหากมองในกรอบของศิลปะแนวคิด (conceptual art) วัสดุเหล่านี้ก็คือสื่อที่ศิลปินใช้เพื่อเสนอความคิดและมุ่งผลที่ได้จากการชมสื่อนั้น อาจพูดได้ว่าที่ศิลปะนั้นน่ารังเกียจเพราะศิลปินตั้งใจให้ผู้ชมรู้สึกว่ามันน่ารังเกียจและฉุกคิดว่าเหตุใดมันจึงน่ารังเกียจ โดยไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนให้สิ่งที่น่ารังเกียจกลายเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจ
ศิลปะเหล่านี้จึงท้าทายแนวคิดที่ศิลปะนั้นต้องสวยงามหรือจรรโลงใจ ศิลปะเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องประพฤติตามนั้น เพราะความสวยงามและจรรโลงใจนั้นไม่เกี่ยวกับเป้าหมายของศิลปะประเภทนี้เลย หนำซ้ำในบางครั้งความสวยงามและจรรโลงใจยังอาจเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารเสียด้วยซ้ำ
ในโลกนี้มีศิลปะอันสวยงาม ได้สัดส่วนและสะอาด แต่ที่อีกด้านของเหรียญก็มีงานศิลปะที่ห่างไกลคำว่าสวย ไม่เป็นรูปทรงและทำมาจากสิ่งที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเราที่กลายเป็นของที่น่ารังเกียจหรือของเสีย
นอกจากตัวอย่างที่เรายกมา ยังมีงานศิลปะอีกมากมายที่เป็น Abject Art และเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปินแล้วคงไม่หยุดสร้างสรรค์กันง่ายๆ ดังนั้นในอนาคต เราคงจะได้เห็น Abject Art แปลกๆ ใหม่ๆ อีกมากมาย แม้อาจไม่ใช่ศิลปะแบบที่เป็นมิตรกับคนดูนัก แต่ Abject Art ก็ได้ช่วยขยายพรมแดนของศิลปะไปอีกขั้นและพาเราไปสำรวจสิ่งที่ปกติเราไม่ลังเลที่จะกำจัดไปให้พ้นหน้า ว่าในทางหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็อาจให้ความคิดและแรงบันดาลใจบางอย่างกับเราได้เช่นกัน